Perfectionism ในการทำงาน ลักษณะที่ดีแต่นำมาซึ่งสุขภาพที่แย่
Perfectionism หรือผู้ที่หลงใหลในความสมบูรณ์แบบ ลักษณะที่มักพบในกลุ่มผู้บริหารระดับสูง ที่ต้องการได้ผลงานที่ดีที่สุดออกมาในทุกชิ้นงาน ทุกขั้นตอนการทำงานต้องถูกต้องตามหลักการ เป็นระเบียบเรียบร้อยไม่แตกแถว ซึ่งผู้นำที่มีคุณลักษณะเช่นนี้จะทำให้องค์กรเป็นระบบระเบียบมากขึ้นเยอะเลยทีเดียว ผลดีจากการเป็น Perfectionism เกิดขึ้นกับองค์กร แต่กลับส่งผลเสียต่อตัวเอง การทำงานที่ตึงเป๊ะไม่มีลดหย่อนผ่อนคลาย กลับนำพามาซึ่งสุขภาพร่างกายที่แย่ของเหล่ามนุษย์ Perfectionism ซึ่งหากปล่อยไว้เรื้อรังอาจแย่กว่าที่คุณคิดก็เป็นได้
ผลเสียของการเป็น Perfectionism
- สุขภาพร่างกายที่ย่ำแย่
เส้นทางในการเดินไปสู่คำว่าสมบูรณ์แบบในการทำงานนั้น ล้วนประกอบไปด้วยหลายปัจจัย หลายฝ่าย และหลายคน ฉะนั้นการที่ทุกคนในเส้นทางสมบูรณ์แบบของคุณนั้นจะทำงานได้ดั่งใจทุกคน คงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก หากคุณยังตั้งมาตรฐานระหว่างทางไว้สูง ลดไม่ได้ หย่อนนิดไม่ยอม ไม่เลือกที่จะดูภาพรวมของผลงานเป็นสำคัญ เมื่องานออกมาไม่เป็นตามเป้าที่ตั้งไว้ คุณจะเกิดอาการเครียด และบ่อยเข้าจะกลายเป็นความเครียดสะสมที่อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ในที่สุด และไม่ใช่เพียงแค่ภาวะซึมเศร้าเท่านั้น หากคุณยังไม่ยอมที่จะเรียนรู้การปล่อยวาง ก็อาจทำให้เป็นโรคไบโพล่า (Bipolar) ได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งอาการของโรคนี้อาจส่งผลเสียต่อการทำงาน จนท้ายที่สุดคุณอาจสูญเสียงานอันเป็นที่รักไปอย่างน่าเสียดาย
- สมบูรณ์แบบเกินไปก็ใช้เวลาทำงานมาก
เพราะมัวใส่ใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยความกลัวจะไม่เป๊ะ ไม่เป็นไปตามขั้นตอน จนทำให้งานที่ออกมาช้าจนไม่ทันการณ์ หรือบางครั้งไม่กล้าที่จะลงมือทำ เพียงเพราะข้อมูลยังไม่มากพอ หรือเตรียมตัวมายังไม่พร้อมเท่าที่ควร จนสุดท้ายทำให้โอกาสดี ๆ หลุดมือไปอย่างน่าเสียดาย บางครั้งความ Perfectionism ก็ทำให้คุณกลายเป็นคนย้ำคิดย้ำทำ แทนที่จะส่งผลดีต่องานกลายเป็นส่งผลเสียทั้งงาน และองค์กร
- ความ Perfectionism ทำลายบรรยากาศในการทำงาน
ไม่ใช่ว่าเป็นคนสมบูรณ์แบบจะดีเสมอไป บางทีอาจทำให้คุณมั่นใจในความสมบูรณ์แบบจนมองไม่เห็นตัวเองในอีกด้าน ความเป๊ะของคุณอาจสร้างความอึดอัดให้กับทีมหรือเพื่อนร่วมงาน ยิ่งงานไหนที่ต้องทำงานเป็นทีมด้วยแล้ว มวลความเป๊ะของคุณจะทำให้เพื่อนร่วมทีมรู้สึกกดดัน จนไม่กล้าที่จะครีเอทงาน บรรยากาศในการทำงานอึมครึมและตึงเครียด คุณกลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้ที่ทำงานไม่น่าทำงาน จนอาจเป็นปัญหาใหญ่ขององค์กรได้ในภายหลัง
มาถึงตรงนี้คงพอจะรู้แล้วว่าการเป็นคนสมบูรณ์แบบนั้นไม่ได้ดีเสมอไป ข้อเสียต่าง ๆ ที่เรานำมานำเสนอให้ได้คิดในอีกด้าน เพื่อให้คุณมองเห็นในสิ่งที่คุณอาจนึกไม่ถึง บางรายละเอียดที่คุณใส่ใจแต่เรื่องของเนื้องาน จนลืมนึกถึงตัวเอง และเพื่อนร่วมงานที่ก็สำคัญไม่แพ้ตัวงานที่อยู่ตรงหน้า เพราะงานจะสำเร็จได้นั้นบางทีไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบในทุกขั้นตอน คุณอาจต้องสอดแทรกความยืดหยุ่นลงไปบ้าง เพื่อสร้างความสมดุลให้กับการทำงาน ท้ายที่สุดคุณจะได้ผลงานที่ออกมาดี เพื่อนร่วมทีมที่ทำงานร่วมกันด้วยความสนุก และองค์กรที่มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่จูงใจให้อยากตื่นมาทำงานในทุก ๆ เช้า ที่สำคัญสุขภาพร่างกายของคุณจะได้กลับมาสดใสแข็งแรงดังเดิม