งานยุ่งตลอดเวลา... ไม่ใช่ “เรื่องปกติ”

4449 จำนวนผู้เข้าชม  | 


งานยุ่งตลอดเวลา... ไม่ใช่ “เรื่องปกติ”

งานยุ่งตลอดเวลา... ไม่ใช่ “เรื่องปกติ”

     คุณเป็นหรือเปล่า? งานยุ่งตลอดทั้งวันแทบไม่มีเวลาได้พัก ก้มหน้าก้มตาทำจนหมดเวลางาน กลับพบว่าเวลาที่เสียไปหนึ่งวันเต็ม ๆ นั้น ไม่มีงานบนหน้าตักเสร็จสักอย่าง ทั้ง ๆ ที่คุณก็กล้าพูดได้เต็มปากว่าคุณงานยุ่งมากจริง ๆ เป็นอย่างนี้ทุกวันจนเริ่มท้อ ทำงานไม่สนุกส่งผลให้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) กลายเป็นปัญหาเรื้อรังเพิ่มขึ้นไปอีก

     คุณลองหยุดยุ่งสัก 5 นาที แล้วหันมาพิจารณาตัวคุณเองดู ว่าที่ว่างานยุ่งตลอดเวลานั้น สาเหตุที่แท้จริงเป็นเพราะตัวงาน หรือตัวคุณที่ทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพกันแน่ ลองมาดูกันว่าคุณทำงานด้วยวิธีการต่อไปนี้หรือไม่ แล้วที่ถูกควรทำอย่างไรจึงจะทำให้งานสำเร็จลุล่วง และลดความยุ่งลงไปได้บ้าง

  1. งานยุ่งเพราะคุณเลือกที่จะรับทุกอย่างไว้เองคนเดียว หากคุณเลือกทำเองทุกงานทุกขั้นตอน แม้แต่ขั้นตอนง่าย ๆ ก็ไม่ยอมปล่อยมือ ทำให้ทำงานสำคัญกว่าทำไม่ทัน ซึ่งทางที่ดีคุณควรรู้จักการแบ่งงาน หรือมอบหมายงานให้คนอื่นทำบ้าง หลักการทำงานเป็นทีมต้องถูกดึงมาใช้ และใช้อย่างถูกที่ถูกเวลา เพื่อให้เกิดผลดีต่อผลงานสูงสุด

  2. แม้จะยุ่งเพียงใดคุณไม่ควรทำอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน ควรทำให้เสร็จเป็นงาน ๆ อย่าให้คิวงานอื่นในหัวเข้ามาแทรก เพราะนั้นจะกลายเป็นว่าพอหมดเวลางานคุณจะไม่มีงานชิ้นไหนที่ทำเสร็จเลยสักชิ้นเดียว แถมผลงานที่ออกมาก็เป็นไปอย่างไร้ประสิทธิภาพ

  3. เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาก็จริง แต่ต้องเรียนรู้ที่จะปฏิเสธ เมื่องานที่กองอยู่ตรงหน้ายังทำแทบไม่ทัน ใช้เหตุผลนี้อธิบายให้หัวหน้าเข้าใจ เลิกนิสัยตอบตกลงทุกคำสั่ง แม้จะรู้ว่าตัวเองทำไม่ทันก็ตาม เพราะสุดท้ายผลเสียจะเกิดขึ้นตามมามากกว่าผลดีอย่างแน่นอน

  4. เลิกให้ความสำคัญกับรายละเอียด ลองเปลี่ยนมาโฟกัสที่ผลลัพธ์และภาพรวมของงาน เพราะรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างทาง อาจทำให้คุณเสียเวลาเพิ่มขึ้น จนทำให้ทำงานได้ล่าช้า เสร็จไม่ทันตามเวลาที่กำหนดไว้

  5. ไม่มัวไปป่าวประกาศให้ใครต่อใครรู้ว่าตอนนี้ตัวคุณกำลังงานยุ่ง แต่ให้การกระทำเป็นสิ่งการันตีปริมาณงานตรงหน้าน่าจะดีกว่า

  6. ทุกครั้งที่ต้องมีการตัดสินใจในการทำงาน ควรตรึกตรองอย่างละเอียดถี่ถ้วน ทบทวนให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงมือทำ อย่าด่วนตัดสินใจโดยไม่คิด เพราะโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดนั้นย่อมสูงตามมา กลายเป็นปัญหาต้องมานั่งแก้ภายหลัง แทนที่งานจะเสร็จเร็วตามกำหนด กลับเสียเวลามากขึ้นกว่าเดิม แถมงานที่ออกมายังไร้ประสิทธิภาพถูกเจ้านายตำหนิ พาลพารู้สึกนอยด์ไปอีก

  7. ยุ่งแค่ไหนต้องไม่ลืมกำหนดเป้าหมายของงานที่จะทำในแต่ละวัน ห้ามทำงานอย่างเลื่อนลอย ไร้จุดหมายโดยเด็ดขาด สร้างเช็กลิสต์ไว้เลยว่าวันนี้คุณต้องทำอะไรบ้าง พร้อมเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลัง และต้องพยายามทำให้ได้อย่างที่ตั้งเป้าไว้โดยเคร่งคัด เพื่อให้งานไม่ค้างเป็นกองพะเนิน ค่อย ๆ เคลียร์ทีละงานอย่างเป็นระบบ รับรองได้เลยว่าความยุ่งจะค่อย ๆ คลายตัวกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ในเร็ววัน
     อ่านมาถึงตรงนี้คงพอจะทราบกันแล้วว่า สาเหตุของงานที่ยุ่งตลอดเวลานั้น แท้ที่จริงมาจากการจัดการตัวคุณเองหาใช่ตัวงานไม่ คุณจึงควรปรับวิธีการทำงานเสียใหม่ สร้าง Mindset ในการทำงานขึ้นมาใหม่ เปลี่ยนตัวคุณให้เป็นคนทำงานที่มีศักยภาพมากขึ้น สามารถจัดการกองงานที่อยู่ตรงหน้าได้อย่างรวดเร็ว และเป็นระบบ กลับมามีเวลาให้กับตัวเองและครอบครัวได้เหมือนเดิม

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้