เก่งไปใช่ว่าดี... คุณสมบัติดีเกินไปไม่ใช่ว่าจะได้งานเสมอ

1941 Views  | 


เก่งไปใช่ว่าดี... คุณสมบัติดีเกินไปไม่ใช่ว่าจะได้งานเสมอ

เก่งไปใช่ว่าดี... คุณสมบัติดีเกินไปไม่ใช่ว่าจะได้งานเสมอ

     พกความมั่นใจมาเต็มกระเป๋า ประสบการณ์และความสามารถที่มีมากเกินคุณสมบัติที่ตำแหน่งงานประกาศรับ ยังไงงานนี้ต้องได้แน่นอนไม่มีพลาด แต่เมื่อประกาศผลกลับต้องกินแห้วกระป๋องใหญ่ ยิ่งช้ำไปอีกเมื่อได้รู้ว่าที่พลาดงานนี้เพราะคุณสมบัติที่มีดีเกินกว่าตำแหน่งงานที่สมัคร และเหตุการณ์ก็วนเวียนเป็นเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนตั้งคำถามในใจว่า คนเก่งนั้นไม่ดีต่อการทำงานตรงไหน ทำไมถึงตกงานด้วยเหตุผลประหลาดแบบนี้ วันนี้เราจะมาเผยความลับของ HR ว่าทำไมถึงไม่เลือกคนเก่งมากความสามารถเข้าทำงาน ความเก่งเกินไปที่กลับไม่โดนใจ HR เสียอย่างนั้น จนทำให้พลาดตำแหน่งงานดี ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย

เก่งไป มีทางเลือกเยอะ อยู่กับองค์กรได้ไม่นาน

     คนเก่งใคร ๆ ก็อยากได้เป็นธรรมดา หาก HR เลือกคนทำงานที่เก่งกว่าตำแหน่งงานที่รับผิดชอบ ไม่แคล้วพนักงานคนเก่งคนนั้นเป็นอันต้องตีจากอ้อมอกของบริษัทไปเป็นแน่ เพื่อไปหาเส้นทางแห่งความก้าวหน้าเส้นใหม่ ที่เหมาะกับความสามารถที่มี ตำแหน่งงานที่สูงและท้าทาย ที่จะสามารถนำทักษะความเก่งที่มีมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับฐานเงินเดือนที่คู่ควร นั่นทำให้การรับคนเก่งเกินเนื้องานมาทำงานไม่ใช่สิ่งที่ HR จะเลือก เพราะนอกจากอยู่ไม่ทนอยู่ไม่นานแล้ว ผลเสียยังเกิดขึ้นกับองค์กรอีกด้วย การทำงานขาดความต่อเนื่อง สะดุดและติดขัดจากการขาดคน แถมยังต้องเสียเวลาฝึกคนใหม่เข้าทำงาน รวมถึงการเปิดรับสมัครงานในแต่ละครั้งมีต้นทุนที่ต้องลงทุนอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ได้ไม่คุ้มเสี่ยง สู้เลือกคนที่เห็นแววพอฝึกให้เก่งได้มาทำงาน นอกจากจะได้งานที่ต่อเนื่องและยั่งยืน ยังได้ความภักดีต่อองค์กรจากการปั้นดินให้เป็นดาว แบบนี้สิที่ HR มองว่าคุ้มและดีกว่าเยอะ

คนเก่งมักมาพร้อมความคาดหวังที่สูงเกินไป

     ก็เพราะเก่งเกินไป จึงทำให้คนเก่งมักติดความสมบูรณ์แบบแถมมากับนิสัยในการทำงานด้วย ทำให้เกิดความคาดหวังต่องานใหม่ที่สมัครเข้ามา เริ่มทำงานด้วยความแอคทีฟ ใจที่พร้อมจะร่วมสร้างองค์กรให้เติบโตไปข้างหน้า รักในงานที่มีความท้าทาย กล้าได้กล้าเสีย ถ้าหากผลลัพธ์มีโอกาสที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นคุณสมบัติที่ดีที่ควรรับไว้พิจารณาเข้าทำงานสักคนสองคน แต่เอาเข้าจริง HR กลับมองว่าพนักงานที่เก่ง และมีไฟในการทำงานที่ลุกโชนขนาดนี้ หากความคาดหวังที่มีต่อองค์กรไม่เป็นดังภาพที่วาดหวัง โอกาสที่พนักงานเหล่านี้จะตัดสินใจเปลี่ยนงานยื่นใบลาออกนั้น มีค่อนข้างสูงเลยทีเดียว และแน่นอนผลลัพธ์ที่ตามมาย่อมส่งผลกระทบต่องานขององค์กรอย่างแน่นอน

คนเก่งมากประสบการณ์ฐานเงินเดือนย่อมสูงตาม

     เป็นธรรมดาที่คนเก่งมากประสบการณ์ย่อมเรียกเงินเดือนที่สูงกว่าฐานเงินเดือนที่เคยได้จากที่ทำงานเดิม เพื่อแลกกับการทำงานที่พร้อมใช้งาน ไม่ต้องเสียเวลามาเรียนรู้ฝึกปรือใหม่ รวมถึงประสบการณ์ที่มีอาจจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานขององค์กรก็เป็นได้ หากตำแหน่งที่เปิดรับคู่ควรกับความสามารถที่โดดเด่นเช่นนี้ HR ก็ยอมแลกเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่คุ้มค่า แต่หากตำแหน่งงานที่ขาด ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะได้คนเก่งพ่วงประสบการณ์มาทำงาน ก็ไม่มีเหตุผลเพียงพอในการลงทุนเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่เกินความต้องการ

     เห็นไหมว่า หัวใจสำคัญของการสมัครงานแล้วได้งานขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของคนกับตำแหน่งงาน ไม่ใช่ความเก่งอย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจ มองไปรอบตัวจะเห็นได้เลยว่าทุกวันนี้คนเก่งตกงานมีเยอะแยะ คนที่ทำงานคุ้มค่าต่างหากคือที่ถูกเลือก รู้แบบนี้แล้วการสัมภาษณ์งานในครั้งหน้า หากคุณถือคติที่ว่าไม่เลือกงานไม่ยากจน ยิ่งในยุควิกฤตถาโถมเช่นนี้ ลองเลือกตอบคำถามที่ไม่ทำให้คุณดูเป็นคนที่ใช้นามสกุล “เกินไป” พ่วงท้ายแบบเก่งเกินไปหรืออ่อนเกินไป บางทีการสัมภาษณ์งานครั้งนี้อาจเป็นครั้งสุดท้ายที่ทำให้คุณได้เจอกับงานที่ใช่ มอบชีวิตที่ดีมีความสุขจนถึงวัยเกษียณ

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy